ม.วลัยลักษณ์ ร่วม สกอ. และ UniNet เป็นเจ้าภาพจัด “ WUNCA ครั้งที่ 39” มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา(UniNet) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ“การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” ครั้งที่ 39 (Workshop on UniNet Network and computer Application : 39th WUNCA) ภายใต้แนวคิด “Smart University” ระหว่างวันที่ 26 – 28 มิถุนายน 2562 เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายความเร็วสูงระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆภายในประเทศในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ“Smart University” นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับในนามจังหวัดนครศรีธรรมราช รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา กล่าวรายงาน และ ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 1,000 คน

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับและขอขอบคุณ กระทรวงอุดมศึกษาวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ บอกเล่าความเป็น “Smart University ของ ม.วลัยลักษณ์ ว่า เทคโนโลยีและสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องสัมพันธ์กับการคิดค้นปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่สอนให้นักศึกษาสามารถใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ ประกาศตัวเป็น “Smart University” เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการบริหารจัดการในด้านต่างๆ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจาก ม.วลัยลักษณ์ มีพื้นที่กว่า 9,500 ไร่ แบ่งเขตการศึกษาชั้นใน กว่า 1,400 ไร่ และพื้นที่รอบนอกที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในอนาคตจะได้ดูแลระบบการติดต่อสื่อสารให้มีความทันสมัยครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์เ ด้านองค์กร (Organization) ได้มีการบริหารจัดการและมาตรการลดการใช้กระดาษภายในองค์กร ทั้งการลดกระดาษในห้องเรียน การทำงานของหน่วยงานต่างๆโดยการใช้ระบบ e-office เน้นการดำเนินงานทุกอย่างอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และปรับเปลี่ยนการวัดผลการเรียนนักศึกษาด้วย ระบบ e-Testing หรือการใช้ e-Signature สำหรับผู้บริหาร ซึ่งการดำเนินทั้งหมดนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษลงได้กว่า 2 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ คุณภาพด้านการเรียนรู้ (Learning) ของนักศึกษาจึงได้ปฏิรูปการเรียนการสอน โดยการนำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) จาก The Higher Education Academy (HEA), UK มาใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีทักษะความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพในการสอนมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ อีกทั้งยังกำหนดให้หลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพดูแลนักศึกษาต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพกำหนด นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ Exit-Exam ผ่าน 90% โดยจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถจากมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ม.วลัยลักษณ์ ยังให้ความสำคัญด้านภาษาอังกฤษ โดยจัดตั้งสถาบันภาษา สอนภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ชาวต่างชาติ เพื่อให้นักศึกษาจบไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ ด้านห้องเรียน (Class room) ได้ใช้ห้องเรียนขนาดเล็กในการเรียนการสอนและปรับปรุงให้เป็น Smart Classroom มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย แก้ปัญหาการสื่อสารทางเดียวระหว่างผู้สอนและผู้เรียน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ ชีวิตและสุขภาพ (Life & Health) โดยจัดทำระบบการดูแลสุขภาพ การให้คำแนะนำออนไลน์ ผ่าน Application และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ โดยการปรับปรุงสนามกีฬาทุกชนิด ให้มีมาตรฐานระดับสากล

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 5,600 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ (WU Hospital) ขนาด 750 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนบน โดยคาดว่า ภายในปี 2564 นี้จะสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยได้จำนวน 120 เตียง และภายในปี 2565 จะสามารถเปิดให้บริการได้ 490 เตียง จนครบ 750 เตียงในอนาคต โดยจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี พร้อมระบบสารสนเทศทางการแพทย์แบบสมัยใหม่มาใช้ ด้านการขนส่ง (Transportation) ได้นำรถไฟฟ้ามาให้บริการนักศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ของนักศึกษา ด้านความปลอดภัย (Security) มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัย ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย การก่อสร้างหอพักที่มีรั้วล้อมรอบ กำหนดเวลาเข้า -ออกที่ชัดเจน และการส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยได้ดำเนินการในทุกๆ มิติ ตามกรอบของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ทั้งสถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการขยะ น้ำ ระบบขนส่ง และการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายขององค์กร ทั้งยังมีสวนวลัยลักษณ์ บนเนื้อที่กว่า 255 ไร่ เป็นสวนสาธารณะในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องสุดท้าย ด้านการทำฟาร์ม (Farming) มีการจัดตั้งศูนย์ Smart Farm ทำเกษตรกรรม ปลูกพืช สวนผลไม้ชนิดต่างๆ และการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด และโรงเรือนเลี้ยงสุกร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นทั้งแหล่งวิจัยของอาจารย์และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งหมดนี้คือความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “Smart University” อย่างเต็มรูปแบบ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าว